ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโสม

252 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโสม

 

ข้อมูลการศึกษาวิจัย


    จากรายงานการทดลอง พบว่าโสมมีคุณสมบัติเป็น " adaptogen " ซึ่งหมายถึง ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับภาวะกดดัน และเป็นยาบำรุงทั้งร่างกาย อย่างไรก็ตามพบว่าจินเซโนไซต์ บางตัวมีฤทธิ์ต้านกัน เช่น จินเซโนไซด์ Rg มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต และกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่จินเซโนไซด์ Rb มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และกดระบบประสาท เป็นต้น

จากการศึกษาวิจัยพบว่าโสมมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างที่สำคัญ ๆ ได้แก่


    1) เพิ่มสมรรถนะในการทำงานของร่างกายให้สูงขึ้น เนื่องจากโสมมีสรรพคุณในการต้านความเมื่อยล้า (antifatigue effect) จากกลไกร่วมกันหลายอย่าง เช่น การเพิ่มการดูดซึมออกซิเจนของผนังเซลล์ เซลล์จึงสามารถสร้างพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นโสมยังช่วยปรับการเต้นของหัวใจ ให้กลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ร่างกายจึงเหนื่อยช้าลง มีดวามอดทนต่อการทำงานมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในระหว่างพักฟื้นให้หายเจ็บป่วยเป็นปกติได้เร็วขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื่อกันว่าโสมมีสรรพคุณกระตุ้นสมรรถะทางเพศ ทั้งนี้มีรายงานว่าโสมมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดด้วย


    2) คุณสมบัติต่อต้านความเครียด (antistress effect) โดยจะช่วยปรับร่างกายและจิตใจ ให้ทนต่อดวามกดดันจากภายนอก โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่มีผลป้องกัน และลดความเครียดจากต่อมใต้สมอง และช่วยคลายความวิตกกังวล


    3) กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีผลให้รู้สึกมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า โดยไม่ทำให้เกิดการอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าตามมา เหมือนยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอื่นๆ โดยพบว่าซาโปนินจากโสมเมื่อให้ในขนาดน้อยๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่เมื่อให้ในขนาดสูง ๆ จะมีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้นควรรับประทานในขนาดที่พอเหมาะ มิเช่นนั้นอาจได้ผลตรงกันข้าม


    4) เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบไม่เฉพาะเจาะจง มีรายงานว่าเพิ่มเม็ดเลือดขาวบางซนิด จึงเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม


    5) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ


    6) ชะลอความแก่ เนื่องจากโสมมีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสระของออกซิเจนที่เกิดจากการทำลายไขมัน (lipid oxidation) อนุมูลอิสระนี้มีอนุภาพทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้เสื่อมสลายลงก่อนเวลาอันควร ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลทำให้เกิด " ชราภาพ (aging) " เนื่องจากผลของโสมในการปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้ทนต่อดวามกดดัน เชื่อว่าช่วยเสริมฤทธิ์กันทำให้โสมมีสรรพคุณ " ชะลอความชรา " ได้ ขนาดที่ใช้ 0.5-2 กรัม/วัน (รากแห้ง) ควรใช้ในขนาดที่แนะนำ เพราะการใช้มากเกินไปจะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

 

Posted by ดร.สุดารัตน์ หอมหวน
หมวด : วิทยาศาสตร์/ไอที
ที่มา www.oknation.net/blog/Thai-Herbal

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้